ไซนั่ง
|
ไซนั่ง โป๊ะน้ำตื้นหรือลอบยืน เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดเดียวกัน แต่ใช้ในหนังสือราชการและตามความนิยมของชาวประมงที่แตกต่างกัน โดยไซนั่งหรือโป๊ะน้ำตื้นถูกกำหนดชื่อโดย ประกาศของจังหวัดสงขลา ส่วนชื่อไซนั่งหรือลอบยืน เป็นคำนิยมที่ใช้กันในหมู่ชาวประมง และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยปัจจุบันไซนั่ง เป็นชื่อเรียกเครื่องมือประมง ที่ทุกคนยอมรับ ไซนั่งประกอบด้วย โครงไม้รูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สูง 1.5 ถึง 2 เมตร ยาวประมาณ 1 เมตร กว้างประมาณ 0.80 เมตร มีช่องเปิดสำหรับสัตว์น้ำทางหนึ่ง ปากช่องเปิดตลอด ความสูงของไซนั่ง มีงาแซงกันสัตว์น้ำว่ายน้ำย้อนกลับออกมา ทางด้านตรงข้ามทำเป็นช่องขนาดเล็ก เปิดปิดได้ อยู่ตรงส่วนล่างของไซนั่ง สำหรับเก็บรวบรวมสัตว์น้ำ ตัวโครงของไซนั่งบุด้วยอวนโพลี่ ช่องตา 1.5 เซนติเมตร มีโครงไม้ประกอบเชือกทำเป็นกว้านไม้ขัด สำหรับชักลอกตัวไซนั่งขึ้นพื้นผิวน้ำ และทำการรวบรวมสัตว์น้ำที่จับได้ ปีกแซงของไซนั่งใช้ข่ายขนาดตา 3 เซนติเมตร กางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ ไซนั่งหนึ่งลูกมีผลจับสัตว์น้ำโดยเฉลี่ย 1.46 กิโลกรัมต่อหนึ่งคืน ชาวประมงจะวางไซนั่งในตอนเย็นและเก็บในตอนเช้าตรู่ ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1.00 - 2.00 เมตร และจะจุดตะเกียงน้ำมันตั้งไว้ส่วนบนของไซนั่งด้วย เพื่อให้มีแสงสว่างช่วยล่อกุ้งและปลาเข้ามา ไซนั่งเป็นเครื่องมือประมงที่ใช้กันแพร่หลายในทะเลสาบสงขลาตั้งแต่บริเวทะเลสาบสงขลาตอนล่างในจังหวัดสงขลา ถึงอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง สัตว์น้ำที่จับได้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำเค็มที่มีขนาดเล็ก และจับได้ครั้งละค่อนข้างมากโดยเฉพาะพวกกุ้งทะเล จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานทางด้านการประมงเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือประมงในทะเลสาบสงขลา จำนวนไซนั่งในทะเลสาบ (จังหวัดสงขลา) มีจำนวน 25,178 ลูก จังหวัดพัทลุงมี 4,426 ลูก ไซนั่งจะวางอย่างหนาแน่นที่สุดในทะเลสาบตอนล่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ขวางกั้นการขึ้นลงของน้ำ และปิดทางเดินของสัตว์น้ำเข้าสู่ทะเลสาบตอนกลาง |
วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2558
ไซนั่ง
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น