โพงพาง
เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนรูปถุง ปากอวนติดตั้งให้การรับสัตว์น้ำที่พัดตามกระแสน้ำเข้าถุงอวน โพงพางหลักเป็นโพงพางที่พบมากที่สุด อวนเป็นรูปถุงปากกว้าง ปากอวนสูงใกล้เคียงกับความลึกของน้ำช่วงขึ้นสูงสุดขนาดประมาณ 4x4 หรือ 8x6 เมตร ความยาวจากปากอวนถึงก้นถุง 20 - 25 เมตร ตัวอวนจะเรียวเล็กลงปากอวนจะวางในทิศทางหันรับกับกระแสน้ำ มักห่างกันตามขนาดปากอวน ราว 4-8 เมตร ด้านบนมีไม้คาดไว้กันไม้หลักเอนเข้าหากัน ปากอวนจะมัดกับเสาหลัก ส่วนตัวอวนจะกดไว้ด้วยไม้กด โดยไม่ใช้ทุ่นและตะกั่วถ่วง ส่วนเนื้ออวนเป็นโพลีเอทธีลีน ที่บริเวณปากจะมีขนาดใหญ่ที่สุด แล้วเล็กลงมาตามลำดับ ส่วนที่เป็นก้นถุงยาว 1.5 - 3 เมตร มักใช้ขนาดตา 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ปลายถุงสามารถเปิดออกได้โดยมัดเชือกไว้ การวางโพงพางจะทำหลายช่องเรียงกันเป็นแถวประมาณ 6 -10 ช่อง ทำได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ในช่วงน้ำขึ้นเต็มที่หรือลงเต็มที่โดยประกอบอวนเข้ากับไม้กดอวน แล้วนำไปผูกกับไม้หลัก แล้วจอดเรือไม้ที่ตำแหน่งก้นถุง รอให้กระแสน้ำพัดสัตว์น้ำเข้าอวนสักพักขึงกู้ก้นอวนขึ้นมา เทสัตว์น้ำออก แล้วมัดก้นถุงวางใหม่ต่อไป โพงพางจะใช้ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1 -6 เมตร และสามารถทำได้ตลอดทั้งปี สัตว์น้ำที่จับได้ คือ กุ้ง ปู และปลาที่ชอบอยู่ในเขตน้ำกร่อย ผลกระทบ คือ จะจับสัตว์น้ำตัวเล็ก สัตว์น้ำวัยอ่อน และจับอย่างไม่แยกประเภท นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่จัดว่ากีดขวางทางเดินเรือทั้งขณะทำการประมง และหยุดทำการประมง เพราะปักหลักทิ้งไว้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น